6 เมษายน พ.ศ. 2460 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมมหาวิทยาลัยขึ้นในกระทรวงธรรมการ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาชัยนาทนเรนทร (ครั้งดำรงพระยศเป็นพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นชัยนาทนเรนทร) เป็น อธิบดีกรมมหาวิทยาลัย และให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอยู่ในความดูแลของกรมนี้
พ.ศ. 2461 ปรับปรุงหลักสูตรแพทย์ประกาศนียบัตร เวลาเรียน 6 ปี ชั้นปีที่ 1-4 (เตรียมแพทย์และปรีคลินิก) เรียนที่หอวัง โดยขึ้นกับคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ชั้นปีที่ 5-6 (คลินิก) เรียนที่ศิริราชพยาบาล ขึ้นกับคณะแพทย์ศาสตร์ พร้อมกันนั้นก็เริ่มเปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิทยาศาสตร์ในคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์
พ.ศ. 2462 เริ่มเปิดสอนหลักสูตรแพทย์ประกาศนียบัตรที่ปรับปรุงใหม่ ในการนี้คณะอักษรศาสตร์และ วิทยาศาสตร์ ได้ปรับปรุงห้องปฏิบัติการต่างๆ ทางวิทยาศาสตร์พื้นฐานขึ้น โดยอาศัยเงินงบประมาณจากทางราชการส่วนหนึ่ง ร่วมกับ เงินบริจาคอีกส่วนหนึ่งในด้านการเรียนปฏิบัติการชีววิทยา สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวง นครสวรรค์วรพินิต ได้ประธานห้องปฏิบัติการชีววิทยา และมีห้องปฏิบัติการกายวิภาคศาสตร์ในอาคารที่ปลูกขึ้นใหม่ในบริเวณหอวัง หลักสูตรแพทย์ประกาศนียบัตรนี้สิ้นสุดลงในปี พ.ศ. 2467
6 กันยายน พ.ศ. 2463 สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ ประธานเงินทุนจำนวน 200,000 บาท แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อใช้ผลรายได้จากทุนนี้เป็นทุนส่งบุคลากรไปเพื่อศึกษาวิชาแพทย์ เคมี ฟิสิกส์ และชีววิทยา ยังต่างประเทศ เพื่อที่จะได้ครูในทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ที่ดีและเป็นกำลังสำคัญต่อไป
พ.ศ. 2464 กระทรวงธรรมการเริ่มต้นเจรจากับมูลนิธิร๊อคกี้เฟลเลอร์ เพื่อปรับปรุงการศึกษาแพทย์ถึงระดับปริญญาแพทยศาสตร์บัณฑิต การเจรจาดำเนินการทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ ทรงเป็นผู้แทนเสนาบดีฝ่ายไทย
พ.ศ. 2465 มีพระบรมราชโองการให้ปฏิบัติตามข้อตกลงกับมูลนิธิร๊อคกี้เฟลเลอร์ได้ในวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2465 โดยในการตกลงครั้งแรกนี้ มูลนิธิฯได้ร่วมเสนอให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดหลักสูตรแพทย์โดยเรียนขั้นเตรียมแพทย์ 2 ปีที่คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ส่วนระดับปรีคลินิกและคลินิก 4 ปีเรียนที่ศิริราช รวมเป็น 6 ปี ในการตกลงครั้งนี้มูลนิธิฯจะยังไม่ขยายความช่วยเหลือมายังเตรียมแพทย์ซึ่งเรียนอยู่ที่คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ แต่ขอให้จัดหลักสูตรการเรียนวิทยาศาสตร์พื้นฐานและภาษาอังกฤษตามที่มูลนิธิฯ เสนอ |